วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

แกงกระดองกรุบ : อาหารสูตรเด็ดของคนลุ่มน้ำแม่กลองแถบสวนวัดเพลง

แกงกระดองกรุบ เป็นแกงกะทิประเภทแกงเผ็ด แกงพื้นบ้านในอดีตของชาวสวนวัดเพลงแถบที่อยู่เขตติดต่อกับอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นแกงที่ทำกินกันแต่ในเฉพาะครัวเรือน ไม่นิยมทำเลี้ยงเนื่องในเทศกาลงานบุญ เพราะเป็นแกงที่ใช้มะพร้าวสิ้นเปลืองอย่างมาก จนกลายเป็นคำพูดที่ล้อเลียนกันว่า แกงกินล้างกินผลาญ เพราะถ้าหากไม่ใช่ชาวสวนที่มีมะพร่าวเยอะแบบนี้แล้ว คงจะไม่มีแกงชนิดนี้กินเป็นแน่ เนื่องจากแกงกระดองกรุบหนึ่งหม้อแกงจะต้องใช้มะพร้าวอ่อนถึง 2 ทะลาย เลือกใช้แต่เฉพาะมะพร้าวอ่อนๆ ที่กะลายังไม่แข็งเท่านั้น นำมาหันเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่แกง เวลาเคี้ยวจะกรุบๆ จึงเรียกว่า แกงกระดองกรุบ

เครื่องปรุง
กะลามะพร้าวอ่อน พริกแห้ง หอม กระเทียม กะปิ ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด ลูกผักชี กะทิ น้ำปลา ใบโหระพา พริกอ่อน เนื้อหมูหรือไก่

วิธีทำ
  1. หั่นกระดองหรือกะลามะพร้าวอ่อนให้เป็นชิ้นเล็ก นำไปแช่ในน้ำส้มสายชู ทิ้งไว้สัก 1-2 ชม.เพื่อไม่ให้กะลามะพร้าวอ่อนกลายเป็นสีน้ำตาลเวลาแกง
  2. นำพริกแห้ง หอม กระเทียม กะปิ ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด ลูกผักชี มาโขลกเป็นน้ำพริกแกง และเนื้อหมูหรือไก่ที่หั่นเตรียมไว้ มารวนกับหัวกะทิจนแตกมัน แล้วจึงเติมหางกะทิที่เหลือลงไป
  3. ปรุงรสให้กลมกล่อมด้วยน้ำปลาและตัดหวานด้วยน้ำตาลมะพร้าวเล็กน้อย
  4. ใส่กะลามะพร้าวอ่อนที่หั่นเตรียมไว้ และใส่พริกอ่อนหั่นเฉียง ใบโหระพาเป็นลำดับสุดท้ายและยกลง หากบางบ้านที่ต้องแกงเผื่อให้คนแก่กินด้วยแล้วก็อาจจะตั้งไฟทิ้งให้กะลามะพร้าวอ่อนมีความนิ่ม ไม่กรุบแข็งก็ได้
***************************************************

ที่มาข้อมูลและภาพ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี. (2554). นิทรรศการอาหารการกินพื้นถิ่นคนราชบุรี. ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2554.
อ่านต่อ >>

กินอยู่ตามกลุ่มชาติพันธ์ : กินแบบชาวจีน

ชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ในราชบุรีเป็นจำนวนมากในช่วงรัชกาลที่ 3-4 มีทั้งชาวจีนแต้จิ๋ว  กวางตุ้ง ไหหลำ แคะ และฮกเกี้ยน  ชาวจีนเหล่านี้กระจัดกระจายกันอยู่ในเขตอำเภอเมืองราชบุรี อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม และกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในเมืองราชบุรี

ชาวจีนเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมความเจริญในด้านต่างๆ มาเป็นเวลานานนับปี และยังส่งอิทธิพลให้แก่ชาติต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะวัฒนธรรมในเรื่องอาหารการกิน อาหารจีนถือได้ว่าเป็นอาหารที่เลิศรสและมีความหลากหลาย ทั้งอาหารจานผัด ต้มจืด ต้มพะโล้หรือตุ๋นเข้าเครื่องยาจีน ที่ถือกันว่าเป็นอาหารที่บำรุงสุขภาพ หรือแม้แต่ก๋วยเตี๋ยวนานาชนิด เหล่านี้ล้วนเข้าไปแทรกอยู่ตามสำรับอาหารของคนราชบุรีทั้งสิ้น

แต่ขณะเดียวกันชาวจีนเองก็รับเอาแกงส้ม แกงคั่ว ต้มยำของคนไทย มาไว้ในสำรับของตนด้วยเช่นกัน โดยปรุงแต่งรสชาติให้ถูกปากตามแบบชาวจีนที่ไม่กินอาหารรสจัด  ชาวจีนส่วนใหญ่ จะกินอาหารที่มีรสเค็ม อาหารส่วนใหญ่จะเป็นข้าว นิยมกินข้าวสวยในมื้อเช้า และมือเย็น ส่วนมื้อกลางวันจะกินข้าวต้ม กับข้าวนิยมกินคือ ไข่เค็ม เกี่ยมฉ่าย (ผักกาดดอง) ไชโป๊ว (หัวผักกาดดอง) ปลาเค็ม ถั่วคั่ว เต้าหู้ ถั่วงอก ซีอิ๋ว

ข้าวแห้ง : อาหารสูตรเด็ดของชาวจีนดำเนินสะดวก
อาหารประเภทหนึ่งที่ชาวจีนเป็นต้นตำรับทำขายอยู่แต่ในดำเนินสะดวกและบริเวณใกล้เคียงอย่างสมุทรสงคราม ได้แก่ข้าวแห้ง คือข้าวสวยที่ราดด้วยน้ำไก่ปรุงรส โรยหน้าด้วยกระเทียมเจียว ตั้งฉ่าย ผักชี ต้นหอม ใบขึ้นฉ่าย และกุ้งชุบแป้งทอด ปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่

เครื่องปรุง
ข้าวสวย ไก่(ใช้ทั้งตัว)  เลือดไก่ กระเทียม ซีอิ๊วหวาน ดกลือ ผักชี ต้นหอม ใบขึ้นฉ่าย ตั้งฉ่าย กุ้งชุบแป้งทอดหากไม่มีจะใช้หนังปลาทอดกรอบ หรือเห็ดนางฟ้าทอดแทนก็ได้

วิธีทำ
  1. นำไก่ทั้งตัวมาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ
  2. นำไก่มาผัดกับกระเทียม ปรุงรสด้วยซีอิ๊วหวานและเกลือ ผัดจนน้ำไก่ออกให้เติมน้ำธรรมดาลงไป ใส่เลือด ทิ้งไว้จนเดือดแล้วค่อยช้อนฟองทิ้ง ยกลวจากเตา
  3. นำกุ้งสด (ถ้าไม่มีจะใช้หนังปลาหรือเห็ดนางฟ้าก็ได้ แต่ถ้าใช้กุ้งจะอร่อยกว่า) ชุบแป้งข้าวเจ้า ปรุงรสด้วยเกลือและนำไปทอดในน้ำมันให้กรอบ
  4. นำไก่ปรุงรสไปราดหน้าบนข้าวสวย โรยด้วยผักชี ต้นหอม ใบขึ้นฉ่าย ตั้งฉ่าย และกุ้งชุบแป้งทอด
***************************************************

ที่มาข้อมูล
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี. (2554). นิทรรศการอาหารการกินพื้นถิ่นคนราชบุรี. ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2554.
อ่านต่อ >>

กินอยู่ตามกลุ่มชาติพันธ์ : กินแบบชาวมอญ

กลุ่มชาวมอญนับว่าเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่ยังคงเหลือเอกลักษณ์ของอาหารการกินมากที่สุด และยังคงสืบทอดทำกันอยู่ในวิถีชีวติประจำวันมากกว่าบรรดากลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ในเมืองราชบุรี

ชาวมอญในจังหวัดราชบุรี ตั้งบ้านเรือนอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำแม่กลองในเขตอำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม วิถีชีวิตส่วนใหญ่จึงทำนาปลูกข้าว อาหารหลักจึงได้แก่ ข้าวและบรรดาสัตว์น้ำต่างๆ ที่หาได้จากแม่น้ำ โดยเฉพาะปลา  และนิยมใช้ผักพื้นบ้านมาปรุงแต่งเป็นอาหาร ผักที่ชาวมอญนำมาปรุงเป็นอาหารมักจะเป็นผักที่มีอยู่ตามฤดูกาล โดยมากมักจะเป็นผักที่มีเมือกลื่นและออกรสเปรี้ยว เช่น กระเจี๊ยบเขียวหรือบอกะต๊าด  ใบกระเจี๊ยบแดงหรือฮะเจ๊บ ผักปลังหรืออะนิงลาง เป็นต้น

แกงที่นิยมทำได้แก่ แกงส้มคล้ายของไทยแต่จะหนักเครื่องแกงเพื่อดับกลิ่นคาว และจะใส่กระชายกับข้าวเบือลงไปด้วย ไม่ใส่น้ำตาล แกงส้มของชาวมอญจึงมีรสเปรี้ยวเค็ม และมักจะแกงกับผักรวมหรือผักที่มีตามฤดูกาล เช่น เดือนห้าต่อเดือนหก แกงส้มลูกสั้นที่คนมอญเรียกลูกอะล้อด เดือนแปดถึงเดือนเก้ากินแกงส้มมะตาดหรือฮะเปร๊า ส่วนแกงกะทิพวกแกงคั่วก็เป็นที่นิยม เช่นแกงขี้เหล็ก แกงคั่วลูกตาลกับถั่วเขียวแกง  ที่ไม่ใส่กะทิ ก็ได้แก่ แกงเลียง ต้มเค็มใบส้มป่อย แกงบอน ฯลฯ โดยเฉพาะแกงบอนจะนิยมทำเลี้ยงในงานบุญมากกว่าทำกินในชีวิตประจำวัน เพราะมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยาก

อย่างไรก็ดี อาหารประจำสำหรับสำรับของชาวมอญ ที่ต้องมีทุกมื้อขาดไม่ได้ คือ น้ำพริก ได้แก่ น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกตาแดง  น้ำพริกกะปิ นำพริกกุ้งแห้ง และน้ำปลายำ โดยเฉพาะน้ำปลายำ จัดเป็นอาหารพื้นถิ่นกินเฉพาะชาวมอญอีกอย่างหนึ่ง น้ำพริกชนิดต่างๆ จะกินกับผักสด ผักดองหรือผักต้ม ตามแต่ประเภทของน้ำพริก และมีปลาเค็มกินเป็นเครื่องเคียงด้วยเช่นกัน

นอกจากอาหารที่กินในวิถีชีวิตประจำวันของชาวมอญแล้ว ยังมีอาหารที่ทำขึ้นในเทศกาลสงกรานต์โดยเฉพาะและเป็นที่รู้จักกันดีของคนทั่วไปจนทุกวันนี้ ได้แก่ ข่าวแช่ หรือชาวมอญเรียกว่า เปิงดาจก์ แปลว่า ข้าวน้ำ  ข้าวแช่นั้นเป็นอาหารที่เกี่ยวข้องกับพืธีกรรม  มีขั้นตอนในการทำค่อนข้างพิถีพิถัน ใช้เวลาในการจัดเตรียมมาก  และเมื่อปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะต้องนำไปถวายบูชาต่อเทวดา จากนั้นจะนำไปถวายพระ และแบ่งไปส่งผู้หลักผู้ใหญ่ ที่เหลือจากนั้นจึงจะนำมาตั้งวงแบ่งกันกินกันเองภายในครัวเรือน

การกินข้าวแช่ เป็นการกินอาหารที่สอดรับกับสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี เพราะช่วงฤดูร้อน การกินอาหารที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบมากๆ ทำให้ย่อยง่าย ลดอุณหภูมิภายในร่างกาย คลายร้อนสร้างสมดุลภายในร่างกาย นับเป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดในการเลือกกินของชาวมอญเป็นอย่างยิ่ง

แกงมะตาด (ฟะฮะเปร๊า) : อาหารสูตรเด็ดของชาวมอญ
แกงมะตาดหรือฟะฮะเปร๊าในภาษามอญ เป็นแกงแบบแกงส้มของคนไทย แต่น้ำแกงจะข้นเพราะใส่เนื้อปลามาก เครื่องแกงจึงต้องหนักกระชายเพื่อดับคาวปลา ปกติแล้วแกงส้มของชาวมอญมักไม่ใส่น้ำตาล เพื่อให้น้ำแกงมีรสเปรี้ยวและเค็ม โดยเฉพาะลูกมะตาดนั้น จะมีรสเปรี้ยวอยู่แล้ว แต่ถ้าหากยังเปรี้ยวไม่พออาจจะใส่น้ำส้มมะขามเพิ่มลงไปอีกได้  ชาวมอญจะแกงส้มใส่ผักที่มีตามฤดูกาล อย่างเช่น แกงมะตาด นี้จะแกงกินในช่วงเดือนแปดถึงเดือนเก้า เท่านั้น

เครื่องปรุง
พริกแห้ง 5 เม็ด ฉีกแช่น้ำ กระชาย 5 ราก หอมแดง 4-5 หัว ผิวมะกรูดเล็กน้อย ตะไคร้เล็กน้อย กะปิ น้ำปลา

วิธีทำ
ทำตามขั้นตอนดังนี้
  1.  คั้นพริกแห้งแช่น้ำ ตำพร้อมกับผิวมะกรูดและตะไคร้ให้ละเอียด
  2. โขลกตะไคร้ หอมแดง กระชาย และกะให้เข้ากับเครื่องปรุงในข้อ 1
  3. ละลายเครื่องแกงใส่น้ำพอสมควร ใส่มะตาดที่สับแล้วหั่นตามทางยาวเป็นชิ้นเล็กๆ
  4. ตั้งไฟให้เดือด ใส่ปลาสดหรือปลาย่างตามต้องการ ถ้าหากต้องการน้ำแกงข้น แบ่งเนื้อปลาโขลกกับเครื่องแกง
  5. มะตาดมีรสเปรี้ยว ปรุงรสด้วยน้ำปลา หากรสเปรี้ยวไม่พอ เติมนำมะขามตามใจชอบ
*************************************************

ที่มาข้อมูล
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี. (2554). นิทรรศการอาหารการกินพื้นถิ่นคนราชบุรี. ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2554.
อ่านต่อ >>

กินอยู่ตามกลุ่มชาติพันธ์ : กินแบบชาวลาว

กลุ่มชาติพันธ์ลาวที่อยู่อาศัยในเมืองราชบุรีนั้น ประกอบไปด้วย โซ่ง ไท-ยวน และลาวเวียง ถูกกวาดต้อนจากการศึกสงครามเข้ามาอยู่ที่เมืองราชบุรีในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นในเวลาใกล้เคียงกัน ชาวลาวเหล่านี้มาจากที่ต่างๆ กัน  มีภาษาพูดและวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ในเรื่องอาหารการกินนับว่ายังมีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก โดยเฉพาะการกินอาหารที่ไม่มัน จึงไม่นิยมกินอาหารที่มีความมัน เช่น แกงกะทิ แต่จะหนักไปทางรสชาติเผ็ดและเค็ม ด้วยการใส่ปลาร้าเพื่อปรุงอาหาร เช่น

กลุ่มไท-ยวน จะนิยมแกงหน่อไม้เปรี้ยวที่ทำจากหน่อไม้รวกที่หาได้มาดองกิน แกงใส่หอยกาบทั้งเปลือก แกงเลียงผักต่างๆ หรือแกงหยวกกล้วยอาหารยอดนิยมที่เป็นแกงกะทิแบบแกงคั่ว แต่ก็มีเครื่องปรุงคือน้ำปลาร้าเป็นตัวชูรส

ในขณะที่ลาวโซ่งจะมีอาหารประเภทที่คล้ายกับอาหารลาวมากที่สุด คือ อาหารประเภทลาบเลือด ที่ทำจากเนื้อหมูต้มนำมาสับให้ละเอียดแล้วนำมาคลุกกับเลือดหมูสดๆ ปรุงรสด้วยพริก น้ำปลา มะนาว หอม กระเทียมและเครื่องเทศต่างๆ เป็นอาหารยอดนิยมของชาวโซ่งในอดีต เพราะเชื่อกันว่ากินแล้วจะทำให้แข็งแรง และยังมีอาหารประเภทยำ เช่น จุ๊บผัก เป็นการยำผักด้วยเครื่องแกงเผ็ดผสมกับเนื้อสัตว์ รสชาติจะเผ็ดและเปรี้ยว

ส่วนชาวลาวเวียงนั้น ในเรื่องอาหารการกินจะไม่แตกต่างกันมากนัก มักจะกินอาหารประเภทแกงเผ็ดแกงคั่ว เช่นกัน แต่สิ่งที่คล้ายกันสำหรับชาวลาวเหล่านี้คงหนีไม่พ้น น้ำพริกปลาร้า ที่กินกับผักได้ทุกชนิด ชาวลาวในราชบุรีแต่เดิมจะกินข้าวเหนียว เช่น ลาวโซ่ง และไท-ยวน แต่ปัจจุบันได้หันมากินข้าวเจ้าแทน

อาหารของชาวลาวจะมีข้าว และปลาเป็นหลัก รวมทั้งสัตว์อื่นๆ ที่หาได้จากแหล่งน้ำต่างๆ เช่น หอยกาบ หอยเลียด กุ้งฝอย ฯลฯ จะไม่ค่อยกินสัตว์ใหญ่ นอกจากเวลามีงานพิธีใหญ่ๆ จึงจะฆ่าหมู วัว ควายและไก่กินสักครั้งหนึ่ง เช่น พิธีเซ่นไหว้ผีต่างๆ ของชาวลาวโซ่ง เป็นต้น

แกงหยวกใส่หอยกาบ : อาหารสูตรเด็ดของชาวไท-ยวน
แกงหยวกเป็นแกงกะทิประเภทแกงคั่วของชาวไท-ยวนที่นิยมกินมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นิยมแกงกับหอยกาบ เนื่องจากหาได้ง่ายตามหนองบึงต่างๆ แต่ถ้าไม่มี จะใส่เป็นเนื้อไก่หรือหอยแมลงภู่แทนก็ได้ หยวกกล้วยที่นำมาใช้แกงจะเลือกเอาแต่ใส้กลางมาใช้ ฝานตามขวางให้เป็นฝอยบาง เส้นใยและน้ำฝาดยางกล้วยมีคุณสมบัติที่ดีแก่ท้องและลำไส้

เครื่องปรุง
หยวกกล้วยหั่นฝอย หอยกาบ กะทิ พริกแห้ง ข่า ตะไคร้  หอม ผิวมะกรูด  กระเทียม ปลาร้า

วิธีทำ
  1. นำพริกแห้ง ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ผิวมะกรูด มาโขลกเป็นน้ำพริกแกง
  2. นำปลาร้ามาสับให้ละเอียดและใส่ครกตำรวมกับพริกแกง
  3. ละลายเครื่องแกงใส่ในน้ำกะทิ ตั้งไฟจนเดือด ใส่หอยกาบและหยวหกล้วยหั่นฝอย พอเดือดอีกครั้งยกลงจากเตา
********************************************

ที่มาข้อมูล
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี. (2554). นิทรรศการอาหารการกินพื้นถิ่นคนราชบุรี. ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2554.
อ่านต่อ >>

กินอยู่ตามกลุ่มชาติพันธ์ : กินแบบชาวกะเหรี่ยง

ชาวกะเหรี่ยงในราชบุรีจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ราบสูงในเขตอำเภอสวนผึ้ง อำเภอจอมบึง อำเภอบ้านคา มีภูเขาตะนาวศรีและภูเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อนในพื้นที่ และอยู่ติดชายแดนประเทศสหภาพพม่า จากวิถีชีวิตที่อาศัยอยู่ตามป่าเขา ดังนั้นอาหารของชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ ได้แก่พืชผักที่หาได้จากธรรมชาติและสัตว์ที่ล่าได้จากป่า หรือปูปลาที่ได้จากลำห้วยลำธาร ข้าวที่กินก็เป็นข้าวไร่

อาหารในชีวิตประจำวันของชาวกะเหรี่ยงในอดีต คือ ข้าวกับพริกและเกลือ ชาวกะเหรี่ยงนิยมบริโภคอาหารที่มีรสเผ็ดจัด เช่น น้ำพริก แกงเผ็ด แกงส้ม ชาวกะเหรี่ยงจะปลูกพริกไว้ตามไร่สำหรับไว้กินเอง และพริกของชาวกะเหรี่ยง จะขึ้นชื่อในความเผ็ดร้อนกว่าพริกไหนๆ เครื่องแกงหลักประกอบด้วย พริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กะปิ (ปลาร้า) ตำให้เข้ากัน  แต่ถ้าเป็นแกงเผ็ดจะใช้เนื้อสัตว์กับมะเขือเป็นส่วนประกอบ  เนื้อสัตว์ที่ใช้ในการปรุงอาหารจะเป็นจำพวกสัตว์ที่ล่าได้จากป่า เช่น เก้ง กวาง ค่าง กระต่าย แย้ ฯลฯ ถ้าเป็นแกงส้มก็ใช้เครื่องแกงเดียวกัน แต่ไม่นิยมใส่เนื้อสัตว์ แต่ใช้ผักที่มีรสเปรี้ยว ได้แก่ ใบกระเจี๊ยบป่า มะเขือส้ม ฯลฯ เพื่อช่วยในการปรุงรสอาหาร

ส่วนน้ำพริกของคนกะเหรี่ยงมีปลาร้าหรือคนกะเหรี่ยงเรียกว่ากะปิ เป็นเครื่องปรุงสำคัญ นำมาตำกับพริกปรุงรสด้วยเกลือ กินกับผักสด ผักต้ม หรือผักเสี้ยนดอง อาหารของชาวกะเหรี่ยงจะไม่ปรุงรสหวาน เพราะไม่มีน้ำตาลใช้ ชาวกะเหรี่ยงจะกินผลไม้ที่ปลูกอยู่ในสวนภายในบ้านหรือที่มีอยู่ตามไร่ เช่น กล้วย อ้อย ส้มโอ ฯลฯ ส่วนขนมหวานของชาวกะเหรี่ยงจะมีเพียงข้าวห่อที่กินเฉพาะในงานพิธีเรียกขวัญของชาวกะเหรี่ยง หรือที่เรียกว่าประเพณีกินข้าวห่อ เท่านั้น

ข้าวห่อของชาวกะเหรี่ยงจะเป็นข้าวเหนียวนำมาห่อด้วยใบตองหรือใบไผ่ให้เป็นรูปสามเหลี่ยมทรงกรวย นำไปต้มให้สุก เวลากินจะจิ้มกินกับน้ำผึ้งเท่านั้น แต่ในปัจจุบันจะประยุกต์กินจิ้มกับมะพร้าวเคี่ยวกับน้ำตาลคล้ายหน้ากะฉีกของคนไทยแทน

แกงข้าวคั่วหน่อไม้เปรี้ยวใส่ไก่ :  อาหารสูตรเด็ดของชาวกะเหรี่ยง
แกงข้าวคั่วใส่เนื้อสัตว์ที่ล่าได้จากป่า เช่น เก้ง กวาง ค่าง กระต่าย อึ่ง ฯลฯ แกงกับผักที่หาได้ตามบ้านเช่น หยวกกล้วยแตงเปรี้ยว (แตงกวาหรือแตงร้านที่ทิ้งไว้จนสุกเปลือกเป็นสีเหลือง) ยอดผักป่า หรือหน่อไม้เปรี้ยวที่ชาวกะเหรี่ยงดองไว้กินเอง เป็นแกงเผ็ดยอดนิยมของชาวกะเหรี่ยงในอดีต ลักษณะคล้ายแกงป่า  แต่จะใส่ปลาร้ากะเหรี่ยง รสชาติจะเผ็ดจัดและเค็ม อาจจะด้วยเพราะต้องการดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ป่าที่นำมาใช้แกงก็เป็นได้

เครื่องปรุง
เนื้อไก่บ้านหั่นให้เป็นชิ้นๆ  พร้อมเลือดไก่ที่รองใส่ชามเก็บไว้ พริก ตะไคร้ หัวหอม ปลาร้ากะเหรี่ยง ข้าวคั่ว และหน่อไม่เปรี้ยว ใบยี่หร่าหรือโหระพา

วิธีทำ
  1. หั่นเนื้อสัตว์ต่างๆ ให้เป็นชิ้นพอแกง
  2. โขลกพริก ตะไคร้ และหัวหอมไว้เป็นพริกแกง
  3. นำหน่อไม้ดองผัดรวมกับพริกแกงและปลาร้า ผัดให้เข้ากันดีแล้วจึงใส่น้ำให้ท่วม พอเดือดจึงใส่เนื้อไก่ และเลือดไก่ที่รองเก็บไว้ ปรุงรสด้วยน้ำปลา ใส่ใบยี่หร่าและใส่ข้าวคั่ว (ข้าวสารที่คั่วจนเหลืองและนำมาทุบพอให้แหลก) เป็นลำดับสุดท้าย
***********************************************************

ที่มาข้อมูล
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี. (2554). นิทรรศการอาหารการกินพื้นถิ่นคนราชบุรี. ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2554.
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กินอยู่ตามกลุ่มชาติพันธ์ : กินแบบชาวเขมร

ชาวเขมรราชบุรีเป็นกลุ่มชนที่มีจำนวนไม่มากนัก และแบ่งตามภาษาพูดได้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่พูดคล้ายภาษาลาวอีสานจะเรียกว่า เขมรลาวเดิม อาศัยกระจัดกระจายอยู่หลายพื้นที่ในจังหวัดราชบุรี เช่น บางส่วนของตำบลคุ้งกระถิน และตำบลคุ้งน้ำวน เขตอำเภอเมืองราชบุรี อำเภอวัดเพลงที่ตำบลวัดเพลง ตำบลวัดเกาะศาลพระ บ้านโคกพริด อำเภอบางแพ ฯลฯ

ส่วนชาวเขมรอีกกลุ่มหนึ่งนั้น ใช้ภาษาพูดเช่นเดียวกับชาวเขมรประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน กลุ่มชาวเขมรกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองด้านตะวันออกของเมืองราชบุรี เช่น บ้านพงสวาย บ้านคลองแค บ้านคุ้งกระถิน เขตอำเภอเมืองราชบุรี บ้านสนามชัย อำเภอโพธาราม และบ้านโคกพระ อำเภอปากท่อ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมการกินของกลุ่มชาวเขมรเหล่านี้ ไม่ได้มีความแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นมากนัก และส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ ทำนา ทำสวน อาหารการกินจึงปรุงแต่งจากพืชพรรณธัญญาหารที่มีอยู่ในท้องถิ่น กินข้าวกินปลา เป็นหลัก มีแกงส้ม แกงคั่ว และน้ำพริกผักจิ้มต่างๆ 

นอกจากนี้ยังนำปลาตะเพียนมาหมักกับข้าวสุกและเกลือจนมีรสเปรี้ยวเรียกว่า ปลาข้าวสุก นำมาปิ้งกินกับข้าว หรือนำปลาตะเพียนมาหมักกับข้างเหนียวเกลือและใส่แป้งเชื่อหมักทิ้งไว้จนออกรสเปรี้ยวก็จะได้ ปลาข้าวหมาก นำมาหลนกับกะทิ กินกับผักต่างๆ  

หลนปลาข้าวหมาก : อาหารสูตรเด็ดของชาวเขมรลาวเดิม
ในอดีตชาวเขมรลาวเดิมแถบวัดเพลง วัดเกาะศาลพระ นิยมนำปลาตะเพียนที่หามาได้ มาแปรรูปเป็นปลาส้มและปลาข้าวหมากเก็บไว้กินเองภายในครัวเรือน  โดยเฉพาะปลาข้าวหมากจะนิยมนำมาหลนกับกะทิกินกับผักสดชนิดต่างๆ เป็นอาหารที่ทำกินเป็นประจำ เพราะปลาข้าวหมากนั้นเมื่อหมักใส่ไหแล้วจะเก็บไว้กินได้เป็นเวลานาน

เครื่องปรุง
ปลาข้าวหมาก กะทิ หอมแดง ตะไคร้ ใบมะกรูด

วิธีทำ
  1. ใส่กะทิลงในหม้อพอให้ท่วมปลาข้าวหมาก
  2. ทุบหัวหอมแดงพอแหลกและซอยตะไคร้เป็นชิ้นใส่รวมลงไปในหม้อ
  3. ตั้งไฟให้เดือดจนเนื้อปลายุ่ยรวมไปกับกะทิ ใส่ใบมะกรูด
**************************************************

ที่มาข้อมูล
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี. (2554). นิทรรศการอาหารการกินพื้นถิ่นคนราชบุรี. ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2554.
อ่านต่อ >>

อาหารบ้านเจ๊กฮวด คลองดำเนินสะดวก ร.ศ.123

ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองราชบุรี เมื่อ รศ.123 (พ.ศ.2447) พระองค์ได้เสด็จประพาสต้นยังคลองดำเนินสะดวก เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม การเสด็จประพาสในครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์เป็นจดหมายเล่าเรื่องการเสโ้จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5 ไว้ว่า

"ขณะนั้น น้ำกำลังเจิ่งนองท่วมทุ่ง ทรงโปรดให้หยุดกระบวนเรือที่วัดโชติทายการาม  ครั้นเวลาบ่ายก็ทรงเรือเล็กพายไปประพาสทุ่ง  และไร่นาที่ถูกน้ำท่วม ในขณะนั้นยายผึ้งเจ้าของไร่กำลังเก็บหอม กระเทียมตากแดดบนหลังคา แลเห็นเรือเล็ก ก็เข้าใจว่าเป็นเรือขุนนางที่ตามเสด็จ ก็ร้องเชื้อเชิญให้แวะบนเรือน เท่านั้นยังไม่พอ  ยายผึ้งยังได้ยกหม้อข้าวกับกระบะไม้ใส่ชามกะลา มีผักกาด ผัดหมู  ปลาเค็มน้ำพริกกับอะไรอีกอย่างหนึ่งซึ่งแกหาไว้สำหรับแกกินเองในเวลาเย็น มาตั้งจะเลี้ยงอีก  พอยายผึ้งเชิญ พวกเราก็เข้าล้อมสำรับกับพระเจ้าอยู่หัวด้วยกัน ว่ากันคนละคำสองคำ

เจ้าเจ๊กฮวด ลูกยายผึ้ง อายุราวสัก 20 ปี มาช่วยยกสำรับคับค้อน ขณะเมื่อพวกเรากินเลี้ยง เจ๊กฮวดมันนั่งดูพระเจ้าอยู่หัวอยู่ประเดี๋ยว เอ่ยว่า "คล้ายนักขอรับ คล้ายนักขอรับ" ถามว่าคล้ายอะไร มันบอกว่าคล้ายรูปที่เขาตั้งไว้ตามเครื่องบูชา พอประเดี๋ยวก็ลุกขึ้นนั่งยองๆ เอาผ้าปูกราบพระเจ้าอยู่หัว บอกว่า "แน่และขอรับไม่ผิดละ เหมือนนัก" ยายผึ้ง ยายแพ่ง เลยรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัว แต่ก็ได้รับพระราชทานมากอยู่เห็นจะหลายสิบเท่าราคาสำรับกับข้าวที่ยายผึ้งเลี้ยง"

พระนิพนธ์เล่าเรื่องการเสด็จประพาสต้นคลองดำเนินสะดวกนี้ สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการกินของผู้คนแถบคลองดำเนินสะดวกที่ถึงแม้จะเป็นลูกหลานชาวจีนที่เกิดในประเทศไทย  แต่ก็ได้เอาวัฒนธรรมการกินแบบพื้นบ้านของไทย ผสมผสานกับวัฒนธรรมแบบจีนอย่างเห็นได้ชัด

จะเห็นได้ว่าในสำรับของยายผึ้งจะมีน้ำพริกที่กินเคียงกับปลาเค็ม  อันเป็นอาหารพื้นบ้านของคนไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีผัดผักกาดกับหมู ซึ่งเป็นลักษณะการปรุงอาหารแบบผัดผักแบบจีนรวมอยู่ในสำรับ  นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงวิธีการจัดสำรับของคนราชบุรีในอดีต  โดยเฉพาะแถบดำเนินสะดวกและบางแพ จะนิยมจัดสำรับใส่ในกระบะไม้ เช่นเดียวกับสำรับของยายผึ้งที่ปรากฏอยู่ในนิพนธ์

เจ๊กฮวด ตามเรื่องนี้ ภายหลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ แต่งตั้งเป็นมหาดเล็ก ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านก็เรียกกันว่า เจ๊กฮวดมหาดเล็ก เรื่องของเจ๊กฮวดนี้ได้กลายเป็นตำนานเล่าขานแห่งคลองดำเนินสะดวกมาจนทุกวันนี้

**************************************

ที่มาข้อมูล
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี. (2554). นิทรรศการอาหารการกินพื้นถิ่นคนราชบุรี. ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2554.
อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

รู้กิน รู้อยู่ รู้จักถนอม แบบคนราชบุรี

การรู้กินรู้อยู่ของคนราชบุรีในอดีตนั้น นอกจากการเลือกกินสิ่งที่มีอยู่รอบตัว กินตามฤดูกาล ทำให้เกิดความสมดุลและเหมาะกับสุขภาพร่างกาย และยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนแล้ว  ยังมีภูมิปัญญาในเรื่องการถนอมอาหารที่มีอยู่มากมายรอบตัว ให้เก็บไว้กินได้นานๆ  หรือแปรรูปให้เป็นเครื่องปรุงรสอาหารไว้สำหรับใช้เองในครัวเรือนได้อีกด้วย

ข้าวหมาก
ข้าวหมากนับเป็นการแปรรูปอาหารให้กลายเป็นขนมหวานอย่างหนึ่ง  คนไทยในอดีตมีวิธีการทำที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน  เพียงนำข้าวเหนียวนึ่ง ใส่ลูกแป้งลงไปคลุกเคล้า ตักใส่ใบตองห่อทิ้งไว้สัก 3-4 คืน  ให้ออกรสหวานอมเปรี้ยว ก็จะได้ข้าวหมากที่มีรสหวานหอมไว้รับประทาน ถึงแม้จะมีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก แต่ใช่เมื่อทำออกมาแล้วจะมีรสชาติอร่อยเหมือนกันทุกคน

ในอดีตราว 30 ปีก่อน ข้าวหมากบ้านโป่ง โดยเฉพาะข้าวหมากของแม่ชิด ได้ชื่อว่าเป็นข้าวหมากที่มีรสชาติอร่อยที่สุดของบ้านโป่ง ข้าวหมากแม่ชิดจะมีรสหวานสนิทและข้าวจะนิ่มไม่กรุปเหมือนเจ้าอื่น จนมีคนเคยพูดเปรียบเปรยไว้ว่า "รสรักว่าหวานยังไม่ปานเท่าข้าวหมากบ้านโป่ง"  แม่ชิดได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกการทำข้าวหมากเป็นเจ้าแรกของบ้านโป่ง  และ
จากคำร่ำลือในความอร่อยของข้าวหมากแม่ชิด จึงทำให้ข้าวหมากของบ้านโป่ง กลายเป็นข้าวหมากที่ขึ้นชื่อของบ้านโป่งในอดีต และทำให้เริ่มมีการทำข้าวหมากเจ้าอื่นๆ ทยอยทำตามกัน

ปัจจุบันถึงแม้ข้าวหมากแม่ชิด จะเหลือแต่ชื่อก็ตาม แต่ก็ยังกลายเป็นตำนานข้าวหมากบ้านโป่งที่ยังมีคนกล่าวถึงกันจนทุกวันนี้

น้ำตาลมะพร้าว
มะพ้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของคนราชบุรีแถบสวน อ.วัดเพลง และการทำน้ำตาลจากมะพร้าวจึงเป็นอาชีพที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของชาวบ้านสวนวัดเพลงมาเป็นเวลานาน ชาวสวนจะนำน้ำตาลสดที่ได้จากการปาดงวงจั่นมะพร้าวและรองด้วยกระบอกไม้ไผ่ มาเคี่ยวจนงวดได้ที่ และนำมาตีให้เป็นน้ำตาลเปลี่ยนสีจากใสเป็นขาวขุ่นและแข็งตัว แล้วจึงเทใส่ปี๊บหรือภาชนะที่เตรียมไว้ นำออกจำหน่ายสู่ตลาดต่อไป

น้ำตาลมะพร้าวให้รสชาติที่หอม หวาน มัน เหมาะแก่การนำไปทำขนมไทยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี น้ำตาลมะพร้าวราชบุรี จึงเป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไปไม่แพ้น้ำตาลมะพร้าวจากถิ่นใกล้เคียง เช่น สมุทรสงคราม

ไชโป๊
ชาวจีนในอำเภอโพธารามเป็นผู้เริ่มต้นการทำไชโป๊ดองในจังหวัดราชบุรีขึ้น เริ่มจากการทำไชโป๊ดองเค็มเป็นอย่างแรก ส่งไปขายยังจังหวัดใกล้เคียงและที่ตลาดปากคลองตลาดกรุงเทพฯ  มาเป็นเวลากว่า 30 ปี ภายหลังจึงมีการคิดค้นทำไชโป๊แบบหวานขึ้นอีกอย่างหนึ่ง การทำไชโป๊ของราชบุรีนับว่ามีความพร้อมในการผลิตเป็นอย่างยิ่ง ทั้งวัตถุดิบได้แก่ หัวไชเท้าคุณภาพดีจากบ้านโคกหม้อ บ้านกล้วย ดอนยายคลังในเขตจังหวัดราชบุรี ซึ่งกล่าวกันว่ามีคุณภาพดีกว่าแถบอื่น อีกทั้งภาชนะสำหรับหมักก็คือ โอ่งมังกร ที่ผลิตขึ้นในราชบุรีนั่นเอง 

ไชโป๊ทั้งแบบเค็มแบบหวานของโพธารามมีทั้งแบบหัวใหญ่ แบบชิ้น แบบฝอยและแบบแว่น โดยเฉพาะไชโป๊หวานได้ชื่อว่าเป็นไชโป๊ที่มีรสหวานอร่อยกว่าที่อื่นๆ  ในปัจจุบันไชโป๊กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของตำบลเจ็ดเสมียนและส่งเป็นสินค้าออกไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ
อ่านเพิ่มเติม ตำนานของดีโพธาราม ไชโป๊วหวาน ถั่วงอก และน้ำปลา

น้ำปลา
นอกจากวิธีถนอมอาหารประเภทปลาโดยการทำเป็นปลาเค็ม ปลาย่าง และปลาร้าชนิดต่างๆ แล้ว น้ำปลานับเป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่อาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ รู้จักทำไว้กินเองในครัวเรือนมาเป็นช้านานแล้ว ทั้งไทย  เขมร ลาว จีน ในเมืองราชบุรี ล้วนแล้วแต่ทำน้ำปลาไว้กินเองกันทั้งนั้น โดยเฉพาะหลังจากฤดูน้ำหลาก จะมีปลาเล็กปลาน้อยขังอยู่ในไร่นาให้ได้จับคราวละมากๆ จึงนำมาทำน้ำปลาไว้ใช้เป็นเครื่องปรุงรสต่างๆ หรือนำมาทำเป็นอาหารจานเด็ด กินกันในเฉพาะกลุ่ม เช่น น้ำปลายำของชาวมอญ

นอกจากนี้ น้ำปลา ยังกลายเป็นธุรกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวจีนแถบอำเภอโพธารามในปัจจุบันอีกด้วย จากเดิมที่เป็นเพียงอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยชาวจีนจะรับซื้อปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาสร้อย ปลาซิว ปลาน้ำผึ้ง หรือแม้แต่ปลาตะเพียน  ที่ชาวบ้านจับได้และนำมาขาย นำมาหมักกับเกลือเท่านั้น ไม่ได้ปรุงแต่งอะไรเพิ่มเติม เมื่อหมักได้ที่ก็นำมากรองใส่ไหไปขายจังหวัดใกล้ๆ และไหน้ำปลาก็เป็นไหที่ทำจากโรงโอ่งในราชบุรีนี่เอง

โรงงานน้ำปลาของชาวจีนที่โพธารามไม่ได้ใช้ปลาน้ำจืดหมักทำน้ำปลาแล้ว แต่จะใช้เป็นปลาทะเลแทนและขยายกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขึ้น สามารถส่งไปขายได้ไกลถึงภาคเหนือ ภาคอิสาน
อ่านเพิ่มเติม ตำนานของดีโพธาราม ไชโป๊วหวาน ถั่วงอก และน้ำปลา



กะปิ
นอกจากในแม่น้ำลำคลองจะอุดมไปด้วยปลาน้ำจือนานาพันธ์แล้ว สัตว์เล็ก สัตว์น้อย เช่นกุ้งก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน คนราชบุรีที่อยู่ตามลุ่มน้ำลำคลองในอดีต โดยเฉพาะไทยพื้นถิ่นที่บ้านโพหัก รู้จักนำแปรรูป โดยการนำกุ้งฝอยขนาดเล็กที่ช้อนได้มาคลุกเคล้ากับเกลือและตำให้ละเอียด นำไปตากแดดให้แห้งและหมักทิ้งไว้ระยะหนึ่ง ก็จะได้กะปิไว้กินเอง  ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำพริกแกงเผ็ดประเภทต่างๆ หรือนำมาตำเป็นส่วนผสมของน้ำพริกเผา หรือน้ำพริกกะปิกินกับผักชนิดต่างๆ เป็นอาหารที่กินกันเป็ประจำสำหรับคนไทย

ปลาร้า
ในอดีตปลาน้ำจืดนานาพันธุ์ที่มีอยู่มากมายในแม่น้ำลำคลองจับกินกันจนกินไม่ทัน ก็จะนำมาทำเป็นปลาเค็มตากแห้ง ปลาย่างรมควันเก็บใส่ปี๊บเอาไว้กินภายหลัง หรือนำมาหมักใส่เกลือ ข้าวคั่ว รำหรือปลายข้าวกลายเป็นปลาร้าเก็บไว้กินได้เป็นปีๆ หรือนำไปประกอบอาหารชนิดอื่นๆ ได้อีก ทั้งมอญ ลาว กะเหรี่ยง เขมร หรือคนไทยพื้นถิ่นนิยมกินปลาร้ากันทั้งนั้น  แต่อาจจะมีวิธีการทำและส่วนผสมที่แตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย เช่นปลาร้า หรือปลาแดกของชาวลาวใส่เกลือและข้าวคั่ว ปลาร้าเขมร หรือปลาฮ้อกจะใส่เกลือ รำและปลายข้าว ปลาร้ากะเหรี่ยงจะใส่เกลือและรำข้าวหรือข้าวคั่ว นำไปหมักใส่กระบอกไม้ไผ่แทนการหมักแบบใส่ไหทั่วไป และชาวกะเหรี่ยงจะเรียกมันว่ากะปิ ส่วนปลาร้าของชาวมอญหรือกะฮะร้อกจะใส่เพียงเกลือเท่านั้นและจะแห้งกว่าปลาร้าของกลุ่มอื่นๆ

น้ำผึ้ง
น้ำผึ้งแท้จากธรรมชาติ จัดเป็นของที่หายากและได้มาด้วยความยากลำบาก แต่ชาวกะเหรี่ยงในเขตอำเภอสวนผึ้ง มีความชำนาญในการตีผึ้งเป็นอย่างยิ่ง ในอดีตท้องที่อำเภอสวนผึ้งจะเต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่และมีต้นไม้ชนิดหนึ่งมักจะมีผึ้งไปเกาะทำรัง ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่าต้นผึ้ง หรือมั้ยชะเลียงในภาษากะเหรี่ยง

ชาวกะเหรี่ยงที่สวนผึ้งจะมีเครื่องมือในการตีผึ้งโดยเฉพาะเรียกว่า ทอย ผู้นำในการตีผึ้งขะเรียกว่าหมอผึ้ง การตีผึ้งของชาวกะเหรี่ยงที่สวนผึ้งจะมีข้อธรรมเนยมปฏิบัติหลายอย่าง เช่น ห้ามตีผึ้งในวันพระ และใน 1 ปีจะตีผึ้งได้แค่สองครั้งเท่านั้น คือเดือน 5 และเดือน 9 เพราะถือกันว่าเป็นช่วงที่น้ำผึ้งมีรสหวานเป็นพิเศษ น้ำผึ้งของชาวกะเหรี่ยงจึงได้มาจากภูมิปัญญาอันชาญฉลาดผนวกกับความกล้าหาญ และความเข้าใจในธรรมชาติ

แต่ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมและสภาพชีวิตที่เปลี่ยนไป ชาวกะเหรี่ยงสวนผึ้งไม่สามารถที่ดำรงชีพอยู่ด้วยการหาของป่า เช่นน้ำผึ้ง มาแลกเปลี่ยนกับข้าวของจำเป็นในชีวิตได้อีกต่อไปแล้ว...
อ่านเพิ่มเติม : กะเหรี่ยงตีผึ้ง

**********************************************

ที่มาข้อมูล
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี. (2554). นิทรรศการอาหารการกินพื้นถิ่นคนราชบุรี. ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2554.
อ่านต่อ >>

อาหารการกินพื้นถิ่นคนราชบุรี

วัฒนธรรมการกินของคนราชบุรี
วัฒนธรรมการกินของคนไทยในแต่ละภูมิภาค เกิดจากการสั่งสมภูมิปัญญาในการเรียนรู้ ดัดแปลง และปรุงแต่งตามธรรมชาติ  ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นก่อให้เกิดวัฒนธรรมการกินและอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาอันชาญฉลาดในการเลือกสรรอาหารการกินตามฤดูกาลเพื่อให้เกิดความสมดุลและเหมาะสมกับสุขภาพร่างกาย

ราชบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย พื้นที่บางส่วนของจังหวัดเกิดจากทับถมของดินตะกอนที่พัดพามาจากแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านตัวเมืองราชบุรี ก่อให้เกิดความสมบูรณ์ของพืชพันธ์ธัญญาหาร อีกทั้งยังมีแม่น้ำลำคลองซึ่งใช้เป็นเส้นทางคมนาคม ติดต่อกับเมืองต่างๆ และออกสู่ทะเลได้ ทำให้ราชบุรีเป็นเมืองท่าทางการค้าที่สำคัญมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 และยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  วัฒนธรรมการกินของคนราชบุรี จึงเกิดจากการภูมิปัญญาในการปรับเปลี่ยน ปรุงแต่ง ความหลากหลายของทรัพยากรธรรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น  ผสมผสานกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทางวัฒนธรรมต่างถิ่นจากกลุ่มชนต่างๆ ที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้ง จีน ลาว มอญ เขมร กะเหรี่ยง เกิดประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมการกินที่ร่วมกันบางอย่างเช่นในปัจจุบัน  อย่างไรก็ตามทุกกลุ่มชนต่างยังคงเหลืออาหารจานเฉพาะอันบ่งบอกรสนิยมและวัฒนธรรมการกินของกลุ่มคนมากน้อยแตกต่างกันไป

หลากหลายการกินพื้นถิ่นคนราชบุรี
หากจะกล่าวถึงรูปแบบการกินของคนพื้นถิ่นราชบุรีในอดีตแล้ว  อาจแบ่งได้ 2 ประเภทคือ วัฒนธรรมการกินตามกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลาย ทั้งจีน ลาว มอญ และเขมร และวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่อาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และกล่าวกันว่าคนไทยพื้นถิ่นแท้ๆ นั้น จะอยู่ที่บ้านโพหัก อ.บางแพ ส่วนกลุ่มชาติพันธ์อื่นๆ จะอาศัยกระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ ได้แก่
  • ชาวมอญ ใน อ.บ้านโป่งและ อ.โพธาราม
  • ชาวลาว ได้แก่ กลุ่มชาวลาวโซ่งใน อ.ดำเนินสะดวกแถบบ้านดอนคลัง บ้านบัวงาม อ.บางแพ แถบบ้านดอนคา บ้านดอนพรม บ้านตากแดด อ.จอมบึง ที่บ้านตลาดควายและบ้านภูเขาทอง อ.ปากท่อ ชาวไทยวนในแถบบ้านไร่นที บ้านคูบัว ดอนแร่ ดอนตะโก เขตอำเภอเมืองราชบุรี และชาวลาวเวียงในแถบบ้านสิงห์ บ้านฆ้อง บ้านเลือก เขต อ.เมือง และบางส่วนของ อ.โพธาราม และ อ.บ้านโป่ง
  • ชาวเขมร ในท้องที่บางส่วนของตำบลคุ้งกระถินและคุ้งน้ำวนในเขต อ.เมืองราชบุรี อ.วัดเพลง อ.บางแพ และ อ.ปากท่อ
  • ชาวจีน ใน อ.ดำเนินสะดวก อ.โพธาราม อ.บ้านโป่ง อ.เมือง อ.วัดเพลง
  • ชาวกะเหรี่ยง ในแถบ อ.สวนผึ้ง อ.จอมบึง อ.บ้านคา
วัฒนธรรมการกินของคนราชบุรีจึงมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชน และหยิบยืมของกลุ่มชนอื่นมาผสมผสานวัฒนธรรมการกินที่ร่วมกันบางอย่างเช่นในปัจจุบัน 

โอชะจากถิ่นลุ่มน้ำลำคลอง
ลักษณะพื้นที่ของราชบุรีนั้น มีลักษณะทั้งเป็นที่ราบสูงและที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำสานสำคัญที่พัดพาความอุดมสมบูรณ์มาสู่คนราชบุรีในเขต อ.เมือง อ.โพธาราม และ อ.บ้านโป่ง อีกทั้งที่ราบต่ำบริเวณตอนปลายของแม่น้ำแม่กลอง แถบ อ.บางแพ  อ.วัดเพลง และ อ.ดำเนินสะดวก ยังมีคูคลองที่ขุดเชื่อมโยงกันกว่า 200 คลอง แหล่งข้าวปลาอาหารของผู้คนแถบนี้  จึงอุดมอยู่ในแม่น้ำลำคลองและท้องทุ่ง ทั้งพืชผักและปลาสามารถนำมาปรุงอาหารทั้งคาวหวานได้หลายชนิด ปลาน้ำจืดนานาพันธุ์ที่มีอยู่อย่างชุกชุม ในแหล่งน้ำจึงเป็นแหล่งอาหารอันโอชะและเป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญของคนในถิ่นนี้

อาหารในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่จึงทำจากปลา เฉกเช่นวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่เรียกว่า "กินข้าวกินปลา" อาหารที่กินกันเป็นประจำ ได้แก่ แกงส้มกับผักนานาชนิดที่หาได้ตามฤดูกาลจากท้องทุ่ง แต่ที่นิยมมากที่สุดเห็นจะเป็น "ผักบุ้ง" เพราะมีให้กินทั้งปี หรือต้มสัม ต้มเค็ม แกงคั่ว แกงป่า หากเบื่อแกงก็ดัดแปลเป็นปลาเห็ดหรือ ทอมัน ห่อหมก และงบปลาชนิดต่างๆ  ในอดีตปลาที่ขึ้นชื่อในลุ่มน้ำแม่กลอง ได้แก่ ปลายี่สก นิยมนำมาทำต้มยำ หรือต้มส้ม แต่ปัจจุบันจากระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ปลายี่สกไม่มีชุกชุมเหมือนในอดีตอีกแล้ว แต่กลายเป็นปลาที่หายากและมีราคาแพง

นอกจากปลาจะเป็นอาหารหลักของคนลุ่มน้ำลำคลองแล้ว น้ำพริก ยังเป็นอาหารที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของผู้คนในแถบนี้เช่นกันด้วย น้ำพริกที่กินกันเป็นประจำคือน้ำพริกเผา แต่ไม่ใช่น้ำพริกเผาที่ผัดน้ำมันอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน หากแต่เป็นน้ำพริกที่ใช้พริกแห้งมาย่างให้กรอบ แล้วตำใส่กะปิ กระเทียม น้ำส้มมะขามและน้ำปลา บางครั้งหากเบื่อพริกแห้งก็ใช้พริกสดมาตำแทน และเปลี่ยนจากน้ำส้มมะขามเป็นน้ำมะนาวแทน กลายเป็นน้ำพริกกะปิอย่างที่เรารู้จักกันนั่นเอง กินคู่กันกับผักสารพัดที่เก็นเอาตามทุ่งนา เช่น ผักบุ้ง สายบัว แพงพวย ฯลฯ  และมีปลาเค็ม ปลาย่าง จำพวกปลาหมอ ปลาตะเพียน ปลาช่อน กินเป็นเครื่องเคียง เป็นอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งสิ้น

สำหรับขนมหวานนั้นจะทำกินกันเองภายในบ้านโดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ เช่น ขนมกล้วย ขนมใส่ใส้ ขนมตาล  กล้วยบวชชี บัวลอย ปลากริม แต่ส่วนมากไม่ค่อยได้กินมักจะกินผลไม้ตามฤดูกาลมากกว่า  ทั้งกล้วย อ้อย มะพร้าว  ฝรั่ง มะม่วง มะกอก ส้มโอ ฯลฯ  นอกจากทำสำหรับเทศกาลงานบุญต่างๆ เช่น วันสารท จะกวนกระยาสารท  วันออกพรรษาทำข้าวลูกโยน หรืองานมงคลต่างๆ ก็จะนิยมทำขนมทองหยิบ ทองหยอด ขนมชั้น ขนมสาลี่ ขนมถ้วยฟู ตะลุ่มข้าวเหหนียวสังขยา ฯลฯ

รสชาติอาหารของคนพื้นถิ่นราชบุรีในลุ่มน้ำแม่กลองและลำคลองต่างๆ มีความกลมกล่อม ไม่เผ็ดจัด เค็มนำ หรือเปรี้ยวนำ เหมือนคนถิ่นอื่น หากแต่รสชาติอาหารของคนชาวสวนใน อ.วัดเพลง เขตติดต่อ อ.อัมพวา หรือ อ.บางคนฑี ของ จ.สมุทรสงครามแล้ว รสชาติอาหารจะมีรสหวานนำมากกว่า และนิยมกินแกงกะทิมากกว่าแถบอื่น ด้วยเป็นแหล่งที่ปลูกมะพร้าวขึ้นชื่อของจังหวัดราชบุรี   น้ำตาลมะพร้าวและกะทิจากมะพร้าวในสวนจึงเป็นส่วนสำคัญของอาหารผู้คนแถบนี้

*******************************************

ที่มาข้อมูลและภาพ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี. (2554). นิทรรศการอาหารการกินพื้นถิ่นคนราชบุรี. ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2554.
อ่านต่อ >>