วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กินอยู่ตามกลุ่มชาติพันธ์ : กินแบบชาวเขมร

ชาวเขมรราชบุรีเป็นกลุ่มชนที่มีจำนวนไม่มากนัก และแบ่งตามภาษาพูดได้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่พูดคล้ายภาษาลาวอีสานจะเรียกว่า เขมรลาวเดิม อาศัยกระจัดกระจายอยู่หลายพื้นที่ในจังหวัดราชบุรี เช่น บางส่วนของตำบลคุ้งกระถิน และตำบลคุ้งน้ำวน เขตอำเภอเมืองราชบุรี อำเภอวัดเพลงที่ตำบลวัดเพลง ตำบลวัดเกาะศาลพระ บ้านโคกพริด อำเภอบางแพ ฯลฯ

ส่วนชาวเขมรอีกกลุ่มหนึ่งนั้น ใช้ภาษาพูดเช่นเดียวกับชาวเขมรประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน กลุ่มชาวเขมรกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองด้านตะวันออกของเมืองราชบุรี เช่น บ้านพงสวาย บ้านคลองแค บ้านคุ้งกระถิน เขตอำเภอเมืองราชบุรี บ้านสนามชัย อำเภอโพธาราม และบ้านโคกพระ อำเภอปากท่อ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมการกินของกลุ่มชาวเขมรเหล่านี้ ไม่ได้มีความแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นมากนัก และส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ ทำนา ทำสวน อาหารการกินจึงปรุงแต่งจากพืชพรรณธัญญาหารที่มีอยู่ในท้องถิ่น กินข้าวกินปลา เป็นหลัก มีแกงส้ม แกงคั่ว และน้ำพริกผักจิ้มต่างๆ 

นอกจากนี้ยังนำปลาตะเพียนมาหมักกับข้าวสุกและเกลือจนมีรสเปรี้ยวเรียกว่า ปลาข้าวสุก นำมาปิ้งกินกับข้าว หรือนำปลาตะเพียนมาหมักกับข้างเหนียวเกลือและใส่แป้งเชื่อหมักทิ้งไว้จนออกรสเปรี้ยวก็จะได้ ปลาข้าวหมาก นำมาหลนกับกะทิ กินกับผักต่างๆ  

หลนปลาข้าวหมาก : อาหารสูตรเด็ดของชาวเขมรลาวเดิม
ในอดีตชาวเขมรลาวเดิมแถบวัดเพลง วัดเกาะศาลพระ นิยมนำปลาตะเพียนที่หามาได้ มาแปรรูปเป็นปลาส้มและปลาข้าวหมากเก็บไว้กินเองภายในครัวเรือน  โดยเฉพาะปลาข้าวหมากจะนิยมนำมาหลนกับกะทิกินกับผักสดชนิดต่างๆ เป็นอาหารที่ทำกินเป็นประจำ เพราะปลาข้าวหมากนั้นเมื่อหมักใส่ไหแล้วจะเก็บไว้กินได้เป็นเวลานาน

เครื่องปรุง
ปลาข้าวหมาก กะทิ หอมแดง ตะไคร้ ใบมะกรูด

วิธีทำ
  1. ใส่กะทิลงในหม้อพอให้ท่วมปลาข้าวหมาก
  2. ทุบหัวหอมแดงพอแหลกและซอยตะไคร้เป็นชิ้นใส่รวมลงไปในหม้อ
  3. ตั้งไฟให้เดือดจนเนื้อปลายุ่ยรวมไปกับกะทิ ใส่ใบมะกรูด
**************************************************

ที่มาข้อมูล
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี. (2554). นิทรรศการอาหารการกินพื้นถิ่นคนราชบุรี. ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2554.

ไม่มีความคิดเห็น: