วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อาหารการกินพื้นถิ่นคนราชบุรี

วัฒนธรรมการกินของคนราชบุรี
วัฒนธรรมการกินของคนไทยในแต่ละภูมิภาค เกิดจากการสั่งสมภูมิปัญญาในการเรียนรู้ ดัดแปลง และปรุงแต่งตามธรรมชาติ  ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นก่อให้เกิดวัฒนธรรมการกินและอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาอันชาญฉลาดในการเลือกสรรอาหารการกินตามฤดูกาลเพื่อให้เกิดความสมดุลและเหมาะสมกับสุขภาพร่างกาย

ราชบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย พื้นที่บางส่วนของจังหวัดเกิดจากทับถมของดินตะกอนที่พัดพามาจากแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านตัวเมืองราชบุรี ก่อให้เกิดความสมบูรณ์ของพืชพันธ์ธัญญาหาร อีกทั้งยังมีแม่น้ำลำคลองซึ่งใช้เป็นเส้นทางคมนาคม ติดต่อกับเมืองต่างๆ และออกสู่ทะเลได้ ทำให้ราชบุรีเป็นเมืองท่าทางการค้าที่สำคัญมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 และยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  วัฒนธรรมการกินของคนราชบุรี จึงเกิดจากการภูมิปัญญาในการปรับเปลี่ยน ปรุงแต่ง ความหลากหลายของทรัพยากรธรรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น  ผสมผสานกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทางวัฒนธรรมต่างถิ่นจากกลุ่มชนต่างๆ ที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้ง จีน ลาว มอญ เขมร กะเหรี่ยง เกิดประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมการกินที่ร่วมกันบางอย่างเช่นในปัจจุบัน  อย่างไรก็ตามทุกกลุ่มชนต่างยังคงเหลืออาหารจานเฉพาะอันบ่งบอกรสนิยมและวัฒนธรรมการกินของกลุ่มคนมากน้อยแตกต่างกันไป

หลากหลายการกินพื้นถิ่นคนราชบุรี
หากจะกล่าวถึงรูปแบบการกินของคนพื้นถิ่นราชบุรีในอดีตแล้ว  อาจแบ่งได้ 2 ประเภทคือ วัฒนธรรมการกินตามกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลาย ทั้งจีน ลาว มอญ และเขมร และวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่อาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และกล่าวกันว่าคนไทยพื้นถิ่นแท้ๆ นั้น จะอยู่ที่บ้านโพหัก อ.บางแพ ส่วนกลุ่มชาติพันธ์อื่นๆ จะอาศัยกระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ ได้แก่
  • ชาวมอญ ใน อ.บ้านโป่งและ อ.โพธาราม
  • ชาวลาว ได้แก่ กลุ่มชาวลาวโซ่งใน อ.ดำเนินสะดวกแถบบ้านดอนคลัง บ้านบัวงาม อ.บางแพ แถบบ้านดอนคา บ้านดอนพรม บ้านตากแดด อ.จอมบึง ที่บ้านตลาดควายและบ้านภูเขาทอง อ.ปากท่อ ชาวไทยวนในแถบบ้านไร่นที บ้านคูบัว ดอนแร่ ดอนตะโก เขตอำเภอเมืองราชบุรี และชาวลาวเวียงในแถบบ้านสิงห์ บ้านฆ้อง บ้านเลือก เขต อ.เมือง และบางส่วนของ อ.โพธาราม และ อ.บ้านโป่ง
  • ชาวเขมร ในท้องที่บางส่วนของตำบลคุ้งกระถินและคุ้งน้ำวนในเขต อ.เมืองราชบุรี อ.วัดเพลง อ.บางแพ และ อ.ปากท่อ
  • ชาวจีน ใน อ.ดำเนินสะดวก อ.โพธาราม อ.บ้านโป่ง อ.เมือง อ.วัดเพลง
  • ชาวกะเหรี่ยง ในแถบ อ.สวนผึ้ง อ.จอมบึง อ.บ้านคา
วัฒนธรรมการกินของคนราชบุรีจึงมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชน และหยิบยืมของกลุ่มชนอื่นมาผสมผสานวัฒนธรรมการกินที่ร่วมกันบางอย่างเช่นในปัจจุบัน 

โอชะจากถิ่นลุ่มน้ำลำคลอง
ลักษณะพื้นที่ของราชบุรีนั้น มีลักษณะทั้งเป็นที่ราบสูงและที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำสานสำคัญที่พัดพาความอุดมสมบูรณ์มาสู่คนราชบุรีในเขต อ.เมือง อ.โพธาราม และ อ.บ้านโป่ง อีกทั้งที่ราบต่ำบริเวณตอนปลายของแม่น้ำแม่กลอง แถบ อ.บางแพ  อ.วัดเพลง และ อ.ดำเนินสะดวก ยังมีคูคลองที่ขุดเชื่อมโยงกันกว่า 200 คลอง แหล่งข้าวปลาอาหารของผู้คนแถบนี้  จึงอุดมอยู่ในแม่น้ำลำคลองและท้องทุ่ง ทั้งพืชผักและปลาสามารถนำมาปรุงอาหารทั้งคาวหวานได้หลายชนิด ปลาน้ำจืดนานาพันธุ์ที่มีอยู่อย่างชุกชุม ในแหล่งน้ำจึงเป็นแหล่งอาหารอันโอชะและเป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญของคนในถิ่นนี้

อาหารในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่จึงทำจากปลา เฉกเช่นวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่เรียกว่า "กินข้าวกินปลา" อาหารที่กินกันเป็นประจำ ได้แก่ แกงส้มกับผักนานาชนิดที่หาได้ตามฤดูกาลจากท้องทุ่ง แต่ที่นิยมมากที่สุดเห็นจะเป็น "ผักบุ้ง" เพราะมีให้กินทั้งปี หรือต้มสัม ต้มเค็ม แกงคั่ว แกงป่า หากเบื่อแกงก็ดัดแปลเป็นปลาเห็ดหรือ ทอมัน ห่อหมก และงบปลาชนิดต่างๆ  ในอดีตปลาที่ขึ้นชื่อในลุ่มน้ำแม่กลอง ได้แก่ ปลายี่สก นิยมนำมาทำต้มยำ หรือต้มส้ม แต่ปัจจุบันจากระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ปลายี่สกไม่มีชุกชุมเหมือนในอดีตอีกแล้ว แต่กลายเป็นปลาที่หายากและมีราคาแพง

นอกจากปลาจะเป็นอาหารหลักของคนลุ่มน้ำลำคลองแล้ว น้ำพริก ยังเป็นอาหารที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของผู้คนในแถบนี้เช่นกันด้วย น้ำพริกที่กินกันเป็นประจำคือน้ำพริกเผา แต่ไม่ใช่น้ำพริกเผาที่ผัดน้ำมันอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน หากแต่เป็นน้ำพริกที่ใช้พริกแห้งมาย่างให้กรอบ แล้วตำใส่กะปิ กระเทียม น้ำส้มมะขามและน้ำปลา บางครั้งหากเบื่อพริกแห้งก็ใช้พริกสดมาตำแทน และเปลี่ยนจากน้ำส้มมะขามเป็นน้ำมะนาวแทน กลายเป็นน้ำพริกกะปิอย่างที่เรารู้จักกันนั่นเอง กินคู่กันกับผักสารพัดที่เก็นเอาตามทุ่งนา เช่น ผักบุ้ง สายบัว แพงพวย ฯลฯ  และมีปลาเค็ม ปลาย่าง จำพวกปลาหมอ ปลาตะเพียน ปลาช่อน กินเป็นเครื่องเคียง เป็นอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งสิ้น

สำหรับขนมหวานนั้นจะทำกินกันเองภายในบ้านโดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ เช่น ขนมกล้วย ขนมใส่ใส้ ขนมตาล  กล้วยบวชชี บัวลอย ปลากริม แต่ส่วนมากไม่ค่อยได้กินมักจะกินผลไม้ตามฤดูกาลมากกว่า  ทั้งกล้วย อ้อย มะพร้าว  ฝรั่ง มะม่วง มะกอก ส้มโอ ฯลฯ  นอกจากทำสำหรับเทศกาลงานบุญต่างๆ เช่น วันสารท จะกวนกระยาสารท  วันออกพรรษาทำข้าวลูกโยน หรืองานมงคลต่างๆ ก็จะนิยมทำขนมทองหยิบ ทองหยอด ขนมชั้น ขนมสาลี่ ขนมถ้วยฟู ตะลุ่มข้าวเหหนียวสังขยา ฯลฯ

รสชาติอาหารของคนพื้นถิ่นราชบุรีในลุ่มน้ำแม่กลองและลำคลองต่างๆ มีความกลมกล่อม ไม่เผ็ดจัด เค็มนำ หรือเปรี้ยวนำ เหมือนคนถิ่นอื่น หากแต่รสชาติอาหารของคนชาวสวนใน อ.วัดเพลง เขตติดต่อ อ.อัมพวา หรือ อ.บางคนฑี ของ จ.สมุทรสงครามแล้ว รสชาติอาหารจะมีรสหวานนำมากกว่า และนิยมกินแกงกะทิมากกว่าแถบอื่น ด้วยเป็นแหล่งที่ปลูกมะพร้าวขึ้นชื่อของจังหวัดราชบุรี   น้ำตาลมะพร้าวและกะทิจากมะพร้าวในสวนจึงเป็นส่วนสำคัญของอาหารผู้คนแถบนี้

*******************************************

ที่มาข้อมูลและภาพ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี. (2554). นิทรรศการอาหารการกินพื้นถิ่นคนราชบุรี. ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2554.

ไม่มีความคิดเห็น: